ประวัติวัดพะเนียด
สภาพฐานะและที่ตั้งวัด
วัดพะเนียด ตั้งอยู่บ้านพะเนียด หมู่ที่ 3 ตำบลขันเงิน อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต
ตั้งวัดเมื่อ พุทธศักราช 2453 มีเนื้อที่ 25 ไร่ 89 ตารางวา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน พุทธศักราช 2542
วัดพะเนียด สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่ตั้งมาแต่โบราน แต่ไม่ได้จดบันทึกเป็นหลักฐาน มีการค้นประวัติได้ในช่วงปีสุดท้ายของการครองราชย์ในรัชกาลที่ 5 จากเอกสารของกระทรวงธรรมการ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ร.ศ.129 (พุทธศักราช 2453) เป็นเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนมูลการศึกษาที่เมืองหลังสวน 12 โรง มีใจความว่า
" ข้าพระพุทธเจ้า เจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร ขอประทานกราบเรียน พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมขุนสมมติอมรพันธุ์ ทราบฝ่าพระบาท ด้วยได้รับใบบอกมลฑลชุมพร ที่ 50/7831 ลงวันที่ 8 มกราคม ศกนี้ ว่า ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวนมีใบบอกมาว่า ได้จัดตั้งโรงเรียนมูลศึกษาขึ้นที่เมืองหลังสวน 12 โรง ใช้ศาลาการเปรียญเป็นโรงเรียน ได้เปิดสอนมาแต่เดือนพฤศจิกายนศกนี้แล้ว มีสำเนารายนามโรงเรียนและจำนวนครูแจ้งในบาญชีที่ข้าพระพุทธเจ้าได้คัดทูลเกล้าฯ ถวายมาพร้อมหนังสือนี้แล้ว ผู้จัดการตั้งโรงเรียนทั้งนี้ขอพระราชทานถวายพระราชกุศล ถ้ามีโอกาศอันควร ขอฝ่าพระบาทได้โปรดนำความถวายบังคมทูลเกล้าฯพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ "
บัญชีโรงเรียนในเมืองหลังสวนที่ตั้งขึ้นใหม่
ศก 129 (พุทธศักราช 2453)
เลขที่ ชื่อโรงเรียน ตั้งที่ตำบล ชื่อครู จำนวนนักเรียน
8 วัดพะเนียด ขันเงิน พระน้อม 18
ตามหลักฐานนี้วัดพะเนียดมีอายุประมาณ 100 ปี ในปีพุทธศักราช 2553 ข้อมูลจากหนังสือ เมืองหลังสวนอนุสรณ์ 100 ปี สวนศรี ปีพุทธศักราช 2442-2542
จากหลักฐานอีกฉบับของหนังสือ นิตยสารธรรมจักษุ ปีที่ 79 ฉบับที่9 ประจำเดือน มกราคม พุทธศักราช 2539
....................................................................................................................
เรื่อง ระยะทางสมเด็จพระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ ในมลฑลปักษ์ใต้ พุทธศักราช ๒๔๕๕
ตอนที่ ๒ ถึงมลฑลชุมพร เสด็จขึ้นเมืองหลังสวน
๓. วันที่ ๑๑ มิ.ย. เวลาเช้า ๒ โมงเศษ ถึงปากน้ำเมืองหลังสวน เรือทอดสมอ พระครูวิจิตรอุดมปัญญาปรีชามุนี เจ้าคณะเมือง ๑ พระยาวรฤทธิฦาชัย ปลัดมลฑล ๑ พระวิชิตวิทยากร ปลัดเมือง ๑ ออกมารับเสด็จ พระยามหิบาลบริรักษ์ ข้าหลวงเทศาภิบาลไปรับเสด็จ พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (๖) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ที่ปากน้ำเมืองชุมพร มาไม่ทัน ทรงปฏิสันถารแก่เจ้าคณะเมืองและข้าราชการผู้มารับเสด็จแล้วเสด็จลงจากเรือศรีธรรมราช ทรงเรือเป็ดเก๋งของพระครูธรรมวิจิตร เจ้าคณะเมือง ขึ้นที่ท่าโรงภาษี ที่ปากน้ำ ทรงดำเนินไปทอดพระเนตร วัดปากน้ำ ที่เขาตั้งชื่อว่า วัดอรุณ วัดนี้ตกแต่งรับเสด็จ มีพระสงฆ์สามเณรสวดชัยมงคลคาถารับเสด็จ ประทับอยู่สักครู่หนึ่งแล้วเสด็จกลับทรงเรือเป็ดเก๋งแจวขึ้นลำน้ำหลังสวนไปราว ๒ ชั่วโมง ถึงท่าบางยิโร เสด็จขึ้นที่นั่นมีข้าราชการและราษฎร์มารับเสด็จเป็นอันมากพลตำรวจภูธรยืนเข้าแถวทรงพระวอ เสด็จโดยถนน ตามทางมีราษฎร์ตั้งที่บูชาและจุดประทัด ผ่านหน้าวัดดอนโตนด ที่อยู่ของพระครูธรรมวิจิตร เจ้าคณะเมือง ที่นั่นมีพระสงฆ์ต่างวัดประชุมสวดชัยมงคลคาถารับเสด็จ แต่ได้หาเสด็จไม่ ประทับบ้านพระยาพิชัยชลธี ผู้ว่าราชการเมือง ในเวลานี้ป่วยไปรักษาตัวอยู่ที่เมืองเพชรบุรี ที่จัดไว้เป็นที่ประทับเสด็จ ถึงเวลาเช้าราว ๔ โมงครึ่ง เสวยเพลที่นั่น ตั้งแต่เที่ยงแล้วมีฝนตกพร่ำเพรื่อ
เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งล่วงแล้ว เสด็จจากที่ประทับทรงพระดำเนินไปตามถนนที่ตัดใหม่ ตั้งแต่ถ้าบางยิโร จนถึงศาลากลาง เสด็จวัดดอนโตนด มีพระสงฆ์รับเสด็จเป็นอันมาก มาจากอำเภอสวี อำเภอพะโต๊ะ และเมืองไชยา (ใหม่)
ก็ทรงมีปฏิสันถาร ตรัสถามถึงสุขทุกข์ความเป็นไปของวัดและพระภิกษุสงฆ์ และเหตุการณ์อันเป็นไปในคณะสงฆ์แล้วประทานยามตรามหาสมณุตมาภิเษกแก่เจ้าคณะทั้งหลาย และประทานหนังสือหัวใจไตรสิกขาแก่พระภิกษุสามเณรทั่วกัน ตรัสสั่งให้พระหัวเมืองสวดมนต์ถวายขัดตำนาน พอเข้ารูปแต่ทำนองยังไม่ดี ทำนองสวดฟังได้แต่ยังไม่เรียบ เสด็จถึงที่ประทับค่ำแล้ว ทรงสวดมนต์พร้อมด้วยพระที่ตามเสด็จ และพระครูธรรมวิจิตร พระครูใบฎีกานวล ผู้ทูลลาออกมาอยู่วัดดอนโตนด เพื่อเป็นมงคลแก่บ้านเมืองฯ
หมายเหตุ ในวันนี้ ฯ ที่ปากน้ำเมืองหลังสวน มีคนมาตั้งทำปลาหนาแน่นกว่าเมื่อเสด็จครั้งก่อน ๒๔ ปีล่วงแล้ว เป็นคนจีนโดยมาก มีตลาดตั้งด้วยฯ ที่วัดปากน้ำอันชื่อว่า วัดอรุณนั้น ภิกษุสามเณรคอยรับเสด็จไม่มีประคตอกคาด ใช้อังสะคาดอกแทนประคต ภิกษุครองดองอย่างพระธรรมยุต พาดสังฆาฏิเอาอังสะรัดอกรัดก็ไม่เป็น ดูปุกปุย สามเณรห่มจีบไม่เป็นทั้งไม่มีสังฆาฏิจะใช้ห่มดองแล้วเอาอังสะคาดอก ขำน่าหัวเราะ เป็นอย่างนี้เพราะพระมหานิกาย ในเมืองหลังสวนห่มผ้าเอาอย่างพระธรรมยุตมานานแล้วทั่วเมือง จนลืมห่มวิธีอย่างมหานิกายเสียแล้ว รับเสด็จคราวนี้ ชะรอยจะเกรงพระบารมี ปราถนาจะห่มอย่างพระมหานิกายแต่ห่มไม่เป็นเสียแล้ว ทั่งมีประคตจะใช้ด้วยจึงทำเช่นนั้น ทอดพระเนตรเห็นแล้วพระสรวล ตรัสว่า ทรงทราบแล้ว ว่าพระมหานิกายเมืองนี้ครองผ้าเอาอย่างพระธรรมยุต เป็นแต่ไม่ได้ทรงนึกว่าเธอจะห่มอย่างไรไปรับเสด็จ ทำอย่างนี้รุงรัง ไม่เป็นสมณะสารูป ห่มอย่างเก่าไม่เป็นก็จงห่มตามธรรมเนียมที่เคยใช้ พอปลดอังสะรัดอกออกแล้วดูเรียบร้อยดี ทั้งห่มแหวกก็เรียบร้อย
ที่ตั่งเมืองหลังสวน อยู่ลึกขึ้นมาจากปากน้ำมาก ลำน้ำแคบ เป็นอย่างชนิดที่เรียกว่าคลอง ทางฝั่งขวา (ขาลง) ใกล้ปากน้ำมีเขาตกน้ำแห่งหนึ่ง เรียกว่า เขาลิงต่าง สองฝั่งน้ำมีต้นมะพร้าวและต้นหมากดาษดื่นไปสมชื่อเมือง อันชื่อว่าหลังสวนนี้น่าจะเนื่องมาจากรังสวนที่แปลว่า มีสวนมากฯ ท่าบางยิโร อยู่ฝั่งขวามือ เป็นที่ขึ้นลงสำหรับเมืองนั้นฯ บ้านพระยาพิชัยชลธี ซึ่งไว้เป็นที่ประทับนั้นเป็นบ้านสวนมีหมาก มีมะพร้าวใบลานทั่วไป เรือนทำด้วยไม้ยางตามแบบฝรั่ง ดูเป็นรมณียสถาน ถ้าเป็นวัดก็เข้าที ฯ
วัดดอนโตนดนั้น มีลานกว้างขวางดี ด้านหนึ่งลงน้ำ ด้านหนึ่งออกถนน แต่ของปลูกสร้าง ตั้งแต่โรงอุโบสถตลอดถึงกุฎี ไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน มีดีแต่โรงหลังหนึ่งเครื่องไม้จริงมุงจาก เป็นโรงโถง ทำเป็น ๓ห้องกว้าง กว้างขนาด ๕ ห้อง มีเฉลียงรอบตัว ยกพื้นอาสน์สงฆ์ ๒ ด้าน ใช้เป็นโรงธรรมสภาด้วย ใช้เป็นโรงเรียนด้วย ในเวลานี้ พระครูธรรมวิจิตร เตรียมจะสร้างอุโบสถใหม่ เผาอิฐ เผาปูนและเลื่อยไม้ไว้แล้วฯ ในการรับเสด็จคราวนี้พระครูธรรมวิจิตร จัดการแข็งแรง ปลูกที่ประทับไว้ที่วัดดอนโตนด แต่ไม่ดีไปกว่าบ้านพระยาพิชัยชลธี จึงแปลงเป็นที่เสด็จออกแขกเสีย ตั้งโรงครัวเลี้ยงอาคันตุกะทั้งคฤหัสถ์ผู้ตามเสด็จ ทั้งพวกพระในพื้นเมืองผู้มาแต่ไกลฯ นักเรียนวัดนี้ได้ยินว่ามีจำนวนถึงร้อย มีครูใหญ่ ๑ ครูรอง ๔ หรือ ๕ สอนทั่งมูลทั้งชั้นประถม รับเสด็จควรจะสอนถวายตัว แต่มัวสาละวนเข้าแถวเสีย จะทอดพระเนตรการสอนก็ไม่สำเร็จ ดูเหมือนการสอนจะยังบกพร่อง จึงไม่ได้ถวายด้วยฯ
๔. วันที่ ๑๒ มิ.ย. ๒๔๕๕ เสด็จทอดพระเนตรวัดพะเนียด เสวยเช้าแล้ว เวลาราว ๒ โมงเสด็จออกจากที่ประทับทรงพระดำเนินไปเขาเงิน ตามทางที่ตัดใหม่ แยกจากถนนสายบางยิโรถมยังไม่เสร็จ ทางก็ไม่ไกลกี่มากน้อยราว ๒๐๐ เส้น แต่เป็นเวลาฝนตกทางลื่น ต้องค่อยๆเสด็จ ทั้งเสด็จหยุดปฏิสันถารพระบ้าง คฤหัสถ์บ้าง ไปตามทาง กว่าจะถึงราว ๔ โมงครึ่ง เขาเงินนี้อยู่ริมน้ำครั้งก่อนได้เสด็จโดยทางเรือ มีถ้ำอยู่แห่งหนึ่งสันฐานถ้ำเป็นเหมือนประทุนเรือ ด้านในตั้งแต่ข้างบนตั้งเป็นกระโจมขึ้นไป ไม่โค้งเป็นประทุน มีช่องหลืบไม่เป็นปล่อง โปร่งพอพักอยู่ได้สบาย มีพระพุทธรูปนั่งอยู่สัก ๓ องค์ ที่ขาดไม่ได้ตามธรรมเนียมของถ้ำ ที่แง่เขามีเจดีย์ย่อมอยู่องค์หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ พระยาจรูญราชโภคากร ผู้ว่าราชการเมือง สถาปนาขึ้นไว้เมื่อพุทธศก ๒๔๓๒ เดิมเขานี้มีชื่อว่า เขาเอน พระราชทานชื่อเปลี่ยนใหม่ว่า เขาเงิน เสด็จคราวนี้ฝนตก ไม่ได้ทอดพระเนตรตามบริเวรฯ อันที่จริงเขานี้ก็ไม่สนุก แต่เมืองนี้ไม่มีอะไรจะให้แขกดู เขานี้จึงได้ออกหน้า เป็นที่ไปแห่งหนึ่งของแขกมาเมือง ในที่นี้มีพวกชาวบ้านนำโภชนาหารมาถวายและเลี้ยงพระ ทั้งพระตามเสด็จและพระเมืองนี้ไม่น้อยกว่า ๓๐ รูป เสวยเพลในถ้ำพร้อมด้วยพระสงฆ์และประทานพระโอวาทแก่ชาวบ้าน ทั้งชายหญิงนั่งล้อมฟังแน่น เกือบเต็มถ้ำมีอาการสนิทสนมและยินดี จบแล้วพระสวดอนุโมทนา เสด็จกลับจากเขาเงิน เวลาราวบ่ายโมงเศษ ฝนตกไม่รู้จักหาย ทางคนเดินมากเข้าเมื่อคราวไปยิ่งลื่นหนักเข้า ต้องค่อยๆเสด็จ
เสด็จทอดพระเนตรวัดพะเนียด และวัดปากสระ วัดแรกพระเป็นธรรมยุต มี ๒ รูป วัดหลังเป็นมหานิกาย มี ๙ รูป ที่ริมวัดพะเนียด มีพะเนียดดินใหญ่แห่งหนึ่ง คนในเมืองนี้ไม่รู้จักว่าอะไร พระครูธรรมวิจิตร นำเสด็จทอดพระเนตร ตรัสว่า เป็นพะเนียดดินสำหรับจับช้างเหมือนพะเนียดที่เมืองลพบุรี แต่ลพบุรีเป็นที่ราบ คงพูนดินเป็นเทิน ส่วนที่นี้อยู่ใกล้เขา จะทำบรรจงหรือทำทั้งนั้น ไม่ทรงทราบฯ พะเนียดที่นี้พูนดินเป็นเทิน ทำทางลาดไว้ด้านนอกด้านในเป็นโกรก มีช่องสำหรับช้างเข้า จะเท่าไหรไม่ได้ค้น ลานในเป็นวงกว้างใหญ่ประมาณไม่ถูกแต่คนอยู่บนเนินแลเห็นโดยรอบ ในนั้นกลางเป็นป่าไม้สูง คงเป็นของจัดให้มีมาเดิมแล้ว ริมดงเป็นทางเพราะต้นไม้ขึ้นไม่ใหญ่ น่าจะมีหนองน้ำด้วยแต่ไม่ได้ค้น ดูน่าจะต้อนช้างเข้าขังไว้ได้นานวัน จับก็น่าจะจับในนั้นเองฯ ชื่อวัดพะเนียด นั้นคงหมายความว่า อยู่ชิดกับพะเนียดนี้เอง เสด็จกลับถึงที่ประทับบ่าย ๓ โมงเศษ ฯลฯ
หมายเหตุทั่วไปฯ วัดในเมืองนี้ที่ได้เสด็จและผ่านไปแลเห็นอยู่เป็นวัดโกโรโกเตทั้งนั้น มีกุฎีพระอยู่อย่างกระท่อม เครื่องผูกฝาไม้ไผ่ทุบหรือขัดแตะ มุงจากเป็นพื้น โรงอุโบสถและศาลามีบ้างไม่มีบ้าง แต่น้อย ที่ก่ออิฐไม่มีเลย เรือนราษฎรก็เช่นกัน นี่ส่อว่าราษฎรในเมืองยากจน แต่ทำวัดพอสมกำลังราษฎรดีอยู่ หากชำรุดลงปฏิสังขรได้ง่าย ของเครื่องทำก็มีในเมืองนี้เอง รู้จักจัดก็พอจะดูได้ ควรทำลานวัดให้เป็นอย่างวนะ คือ เป็นสวนป่า หรือเรียกว่าอารามในบาลีนั้นเอง ทำโรงอุโบสถและศาลากุฎีด้วยไม้ไผ่มุงจาก แต่ให้โปร่ง ถ้าเป็นที่ประชุมให้กว้างขวางพอ ดังนี้ก็น่าจะรื่นรมย์
พระสงฆ์ในเมืองนี้ เดิมเป็นพระมหานิกายทั้งนั้น แต่ห่มผ้าแบบธรรมยุต แต่ยังสะพายบาตรเที่ยวรับภิกษา พระครูธรรมวิจิตร เจ้าคณะเมือง เดิมเป็นพระมหานิกาย เป็นผู้ชักโยงภายหลัง พระครูธรรมวิจิตรแปลงเป็นธรรมยุตได้ ๙ ปีเข้านี่ จึงมีวัดธรรมยุต ในบัดนี้มี ๓ วัด คือ วัดดอนโตนด ๑ ที่อยู่ของพระครูธรรมวิจิตร วัดหน้าสัก ๑ อยู่ไกลไม่ได้เสด็จ วัดพะเนียด ๑ แต่ไม่เจริญด้วยเหตุ ๒ ประการ พึ่งตั้งใหม่ พระครูยังเป็นพระอุปัชฌายะเองไม่ได้การบวชยังไม่เป็นไปสะดวก บางคราวยังต้องรับพระอุปัชฌายะจากที่อื่น บางคราวต้องพากุลบุตรไปบวชในเมืองอื่นนี้อย่างหนึ่ง ตั้งขึ้นในสมัยที่คนจับจืดจางในการบวชอย่างหนึ่ง ที่วัดดอนโตนดเองเสด็จครั้งก่อนยังเป็นมหานิกาย มีพระราว ๓๐ รูปได้อยู่ คราวนี้มีเพียง ๗ รูป เป็น ๑๐ รูปทั้งอุปสมบทใหม่ รวมทั้งหัวเมืองมีเพียง ๒๐ รูปฯ แม้พระมหานิกายที่เป็นพื้นเมืองก็ร่วงโรยลงเหมือนกัน เพราะมีคนบวชน้อยลง แต่เดิมวัดมีพระมาก ถึง ๓๐ รูป ๔๐ รูป ก็มี บัดนี้วัดหนึ่งอย่างมากมีไม่ถึง ๒๐ รูป คิดถัวเพียง ๘ รูป แต่ในอำเภอนอกๆ มีไม่ครบคณะสงฆ์โดยมากฯ พระสงฆ์เมืองนี้มีน้อยลงโดยรวดเร็ว พระครูธรรมวิจิตร กราบทูลเหตุว่า คนหนุมๆเข้าทำราชการแต่อายุยังไม่ครบอุปสมบทเมื่อกำหนด ลาบวชก็เพียงพรรษาเดียว ผู้ที่ถูกเรียกเป็นตำรวจภูธรพ้นกำหนดราชการสมัครเป็นต่อก็มี ที่ออกแล้วมีครอบครัวไปก็มี คนจึงบวชพรรษาเดียวเป็นพื้น
มหานิกายเมืองนี้ เพราะห่มผ้าเอาอย่างธรรมยุต ใช้ผ้าสบงจีวรตัด สังฆาฏิ ๒ ชั้นเป็นพื้น มีผู้เอามาจากกรุงเทพฯ และขายตามตลาด ราคาราวไตร ๒๒ บาท เป็นผ้าเนื้อหนา ทำเองที่นี่ก็ได้เหมือนกันฯ ในการอุปสมบทใช้สวดกรรมวาจาออกชื่อผู้อุปสมบท ได้รับแนะนำจากเจ้าคณะมณฑล ฯลฯ
หมายเหตู พระครูธรรมวิจิตรอุดมปัญญาปรีชามุนี ( เจ้าคุณเฒ่า หนู อชิโต) วัดดอนโตนด ปัจจุบันชื่อ วัดโตนด วัดหน้าสักปัจจุบันชื่อ วัดนาสัก
..........................................................................................................................
รายนามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดพะเนียด
ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
๑. พระน้อม
ปกครองเมื่อปี ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓)
๒. พระปลัดสุข
ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๗
๓. พระปลัดเฟื่อง
ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙
๔. พระอธิการอิ่ม ปวฑฺตโน
ปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๑๙
๕. พระครูบวรธรรมนิวิฐ (ประสิทธิ์ ทมเสฏฺโฐ)
ปกครองเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๐-๒๕๒๙
๖. พระสว่าง เขมโก
ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๙-๒๕๓๘
๗. พระครูวิจิตรกรณีย์ (สุขุม จารุวณฺโณ)
ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘-๒๕๔๗
๘. พระครูวินัยธรธานี ฐานธมฺโม
ปกครองเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘- ปัจจุบัน
..............................................................................................................
ปัจจุบัน วัดได้มีโครงการพัฒนาบูรณะปฏิสังขรภายในเขตวัดให้เจริญขึ้น ตามนโยบายของวัด เพื่อให้เป็นศาสนสถานที่เหมาะกับการปฏิบัติธรรมแก่ผู้มีศรัทธาทั่วไป
สิ่งก่อสร้างที่ได้บูรณะปฏิสังขรและสร้างใหม่
๑. โรงอุโบสถ ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๑๐ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้
๒. ศาลาเอนกประสงค์ ขนาดกว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๘ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้
๓. ศาลาการเปรียญ ขนาด กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๒๘ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กบูรณะเพิ่มเติม เป็นงบประมาณ ๖๗๐,๐๐๐ บาท
๔. หอไตร ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว๖.๕๐ เมตร สองชั้นเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก
๕. กุฎีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๗ เมตร ยาว ๘ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้ จำนวน ๑ หลัง
๖. กุฏีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว๔ เมตร เป็นคอนกรีตเสริมไม้ จำนวน ๑๐ หลัง
๗. กุฏีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร เป็นเรือนไม้แบบทรงไทยภาคกลาง จำนวน ๒ หลัง งบประมาณหลังละ ๒๕๐,๐๐๐บาท
๘. กุฏีสงฆ์ ขนาดกว้าง ๖ เมตร ยาว ๙ เมตร มีมุขหน้าแบบทรงไทยประยุกค์ ก่ออิฐ ประสาน เครื่องบนเป็นไม้มุงกระเบื้อง จำนวน ๑ หลัง งบประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ บาท
๙. กุฏีเจ้าอาวาส ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๒ เมตร มีระเบียงมุขหน้าทรงไทย เครื่องบนเป็นไม้ทั้งหมด หลังคามุงกระเบื้องว่าว ตัวเรือนก่ออิฐถือปูน งบประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท
๑๐.โรงครัว ขนาดกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๖ เมตร งบประมาณ ๒๖๐,๐๐๐ บาท
๑๑.ห้องสุขารวมแห่งที่ ๑ ขนาดกว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ก่ออิฐถือปูน จำนวน ๘ ห้อง
๑๒.ห้องสุขารวม แห่งที่ ๒ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร ก่ออิฐประสาน จำนวน ๔ ห้องงบประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท
๑๓.ห้องสุขารวม แห่งที่ ๓ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๖ เมตร ก่ออิฐประสาน จำนวน ๔ ห้องงบประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ บาท
๑๔.ห้องสุขารวมแห่งที่ ๔ ขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๕ เมตร ก่ออิฐถือปูน จำนวน ๓ ห้อง
๑๕.กำแพงเขตวัด ด้านหน้าทิศใต้ เป็นคอนกรีต ก่อด้วยหินศิลาแลงยาวประมาณ ๑๔๘ เมตร งบประมาณ ๔๘๐,๐๐๐ บาท
๑๖.กำแพงเขตวัด ด้านทิศตะวันตก เป็นคอนกรีต เสริมเหล็กก่ออิฐฉาบปูนยาวประมาณ ๒๓๐ เมตร งบประมาณ ๕๔๐,๐๐๐ บาท
(มีต่อ)