การศึกษาและการทำงาน ท่านเข้าเรียนโรงเรียนประชาบาล จบแล้วก็ไปเรียนโรงเรียนรัฐบาลที่อำเภอสวี มีครูช่วง จันทร์แก้ว เป็นครูประจำชั้น หลวงพ่อเป็นคนเรียนเก่ง มีความขยันหมั่นเพียรสอบไล่ได้ที่ ๑ ที่ ๒ ตลอดมา เมื่อเรียนจบชั้น ม.๑ ซึ่งเป็นชั้นเรียนสูงสุดของอำเภอสวี หากจะเรียนต่อชั้นสูงขึ้นไป ต้องเดินทางไปเรียนที่อำเภอหลังสวน ประกอบกับท่านอาจารย์ไม่มีเงินที่จะส่งเสียให้เล่าเรียนได้ ฉะนั้นจึงต้องหยุดเรียนเพียงเท่านั้น ในช่วงนั้นคิดว่าจะบวชเณร จึงได้ท่องหลักพระปริยัติธรรม, ธรรมวิภาคและคิหิปฏิบัติจนจำได้ ท่องคำขอบรรพชาได้หมด และยังได้อ่านวินัยบัญญัติสำหรับภิกษุด้วย ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลวงพ่อรู้อย่างแน่ชัดว่า อาจารย์ของตนทำผิดศีลขั้น ครุกาบัติ ทำให้ท่านไม่สบายใจเป็นอย่างมาก จะหนีออกจากวัดไปให้พ้นก็ใช่ที่ จึงนำเรื่องราวที่ได้พบได้เห็นทั้งหมดไปเล่าให้น้าฟัง กลับถูกน้าด่าว่า จนหมดกำลังใจเกือบจะฆ่าตัวตาย พอดีมีพระในวัดมาห้ามไว้และช่วยคิดหาทางแก้ โดยเขียนสิ่งที่อาจารย์ทำผิดศีลไปติดไว้ที่ส้วม ทำให้อาจารย์โกรธอย่างมาก จึงแจ้งเรื่องไปยังเจ้าคณะจังหวัด ทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการมาสอบหาข้อเท็จจริง แต่ในที่สุดเรื่องกลับเงียบหายไปกลายเป็นอธรรมเป็นฝ่ายชนะ เลยไม่ได้บวชเณรดังที่ตั้งใจเอาไว้ หลวงพ่อได้ออกจากวัดไปเก็บตัวที่บ้านมิให้ถูกทำร้าย
หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น หลวงพ่อเกิดเสื่อมศรัทธา เกือบจะไม่นับถือพุทธศาสนาอีก จึงหันไปศึกษาคัมภีร์ของศาสนาคริสต์ ก็เชื่อไม่ลง เพราะไม่มีเหตุผล ไปศึกษาศาสนาอิสลามก็เชื่อไม่ลงอีกเช่นกันจึงได้เสาะแสวงหาความรู้ไปเรื่อยๆ และหันไปศึกษาทางไสยศาสตร์ สามารถทำพิธีทางไสยศาสตร์ได้หลายอย่าง เช่น สามารถเรียกจิตให้คนมาหาได้ เป็นต้น ทั้งยังแก้การกระทำของผู้ที่ถูกคุณไสยได้ด้วย แต่ก็เป็นไปในทางโลกียะทั้งสิ้น ระยะที่หลวงพ่อเล่นทางไสยศาสตร์นี้มีอายุเพียง ๑๖-๑๗ ปี เท่านั้น
ในช่วงนั้นก็ช่วยคุณน้าทำสวนตลอด เมื่ออายุ ๑๗ ปี ได้สมัครเข้าเป็นครูประชาบาล สอนอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลวัดหัวเขา (วัดโพธิเกษตรปัจจุบัน) อำเภอสวี เมื่อเป็นครูมาได้ ๑ ปี ทางอำเภอรัตภูมิมณฑลนครศรีธรรมราช ได้ประกาศรับสมัครบุคคลเข้าเรียนครูมูล หลักสูตรเร่งรัด ๒ ปี โดยไม่จำกัดพื้นความรู้เดิม ซึ่งมีผู้สมัครเรียนทั้งหมดภายในมณฑลซึ่งมีอยู่ ๗ จังหวัด รวม ๒๙ คน
การเรียนครูมูล รัฐบาลเป็นผู้ให้ทุนเรียนฟรี พร้อมอาหารและที่พักฟรี ส่วนหนังสือตำรา เครื่องนุ่งห่มและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ผู้เรียนต้องเป็นผู้ออกเอง ในขณะนั้น หลวงพ่อไม่มีเงิน จึงต้องนำที่ดินของมารดา ๒ ไร่ ไปจำนองไว้กับน้าเส้ง พุ่มคง ในราคา ๘๐ บาท เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเรียน
หลวงพ่อเริ่มเรียนครูมูลในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนฝึกหัดครูตอนนั้น คือ อาจารย์ช่วง ชนะณรงค์ แต่ละวันต้องเรียนภาคทฤษฎี ๔ ชั่วโมง และภาคปฏิบัติอีก ๔ ชั่วโมง ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจะต้องพิจารณาคะแนนจากการงาน และความประพฤติ ในจำนวนนักเรียน ๒๙ คน หลวงพ่อสามารถทำคะแนนได้ดังนี้
ความประพฤติ ได้คะแนนในลำดับที่ ๑ การงาน ได้คะแนนในลำดับที่ ๒ คะแนนรวม เป็นลำดับที่ ๕
อายุ ๒๑ ปี หลวงพ่อสำเร็จการศึกษา ได้รับการบรรจุเข้ารับราชการในตำแหน่งครูใหญ่ในทันที ณ โรงเรียนประชาบาลตำบลทุ่งระยะ (ชุมแสง) ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๑๕ บาท เมื่อยังไม่ทราบผลการสอบไล่ พอถึงเดือนกันยายน ๒๔๗๓ ทราบผลสอบไล่แล้วได้เพิ่มเป็นเดือนละ ๓๐ บาท และทำการสอนวิชาเลข ภาษาไทย ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษที่ไม่ได้สอน สอนอยู่ที่โรงเรียนประชาบาลทุ่งระยะได้ ๕ ปี ๑๕ วัน จึงมีคำสั่ง ย้ายด่วนให้ไปดำรงตำแหน่งใหม่ เป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมการช่างที่จังหวัดชุมพร ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๗๘
หลวงพ่อได้อุปสมบทตามประเพณีเมื่ออายุ ๒๓ ปี หลังจากเข้ารับราชการครูได้ ๒ ปี จึงลาบวชได้ ๑๕ วัน ณ วัดดอนสะท้อน ตำบลปากแพรก อำเภอสวี จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๓ เมื่อบวชอยู่ได้ศึกษาพระธรรมวินัยบ้างเล็กน้อย และนั่งสมาธิเอง โดยไม่บริกรรมหรือภาวนาอะไรเลย นั่งนิ่งๆ เฉยๆ แต่จิตใจสงบมาก รู้สึกว่ามีความสุขสงบ ทำให้ไม่อยากสึก จึงขอลาราชการต่ออีก ๔ วัน ครั้นได้บวชอยู่เป็นเวลา ๑๙ วัน ใจไม่อยากจะสึกเลย ถึงกับร้องไห้ แต่จำเป็นต้องลาสิกขา เพราะต้องทำงานใช้หนี้ทุนรัฐบาล ถ้าไม่ทำงานใช้หนี้ต้องเสียเงินให้รัฐบาลเป็นจำนวนถึง ๔ พันกว่าบาท จึงต้องจำใจลาสิกขาด้วยใจที่อาลัยอาวรณ์เป็นอย่างยิ่ง
หลวงพ่อไปเป็นครูใหญ่อยู่โรงเรียนประถมการช่าง (วิทยาลัยเทคนิคชุมพรปัจจุบัน) ได้ ๒ ปี ก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นครูรัฐบาลสังกัดกรมอาชีวศึกษา ได้รับเงินเดือน เดือนละ ๓๔ บาท (พ.ศ. ๒๔๘๐) เมื่อไปเป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมการช่างใหม่ๆ มีนักเรียนเพียง ๑๖ คน ล้วนแต่เป็นเด็กที่เกเรเหลือขอ จนกระทั่งครูใหญ่คนก่อนต้องขอย้ายไป เมื่อเป็นครูใหญ่อยู่ที่นี่ก็ต้องทำงานหนักมาก หลักสูตรการเรียนการสอนไม่มีเลย อาศัยความรู้เมื่อครั้งที่ไปเรียนโรงเรียนฝึกหัดครูฯ ร่างหลักสูตรขึ้นมาเองทั้งหมด ได้เอาใจใส่ทุ่มเทให้กับงานอย่างจริงจัง ปราบนักเรียนเกเรจนอยู่ในโอวาททุกอย่าง เรียนจบทุกคน ทางด้านการกีฬาก็เป็นที่ยอมรับของจังหวัด หลวงพ่อเคยได้ครองถ้วยชนะเลิศบาสเกตบอลและแบดมินตันหลายสมัยด้วยกัน ท่านสอนอยู่โรงเรียนประถมการช่างชุมพรได้ ๘ ปี
๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๔ หลวงพ่อได้ออกจากราชการ เพราะมีเรื่องขัดแย้งกับผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพรในสมัยนั้น ภายหลังจากออกราชการแล้วได้ประกอบอาชีพส่วนตัว ด้วยการ รับเหมาก่อสร้าง รับจ้างเฟอร์นิเจอร์ และเครื่องใช้ต่างๆ อยู่ในภาคใต้ที่ยะลา เบตง และทุ่งสง
ก่อนที่หลวงพ่อตัดสินใจบวชไม่สึก มีเหตุการณ์สืบเนื่องกันมาจากงานรับเหมาของท่านหมดลง จึงได้ไปติดต่องานที่บริษัทปูนซีเมนต์ ตำบลทีวัง อำเภอทุ่งสง วันหนึ่งหลังจากมีการเลี้ยงกันในที่ทำงานร่วมกัน ท่านได้ขี่จักรยานกลับบ้าน เวลาประมาณ ๒ ทุ่ม สวนมากับรถ ๑๐ ล้อ จึงหลบรถ ทำให้ท่านตกลงไปในคูข้างถนน แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไร ท่านมาคิดสังหรณ์ใจว่าหากมีชิวิตเป็นฆารวาส สักวันหนึ่งคงประสบอันตรายถึงชีวิต ต่อมาประมาณ ๗ วัน ก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีก โดยรถสองแถวขับมาเฉี่ยวรถจักรยานของท่าน ทำให้ล้มลง บาดเจ็บมีบาดแผลบริเวณคิ้วแตกเย็บ ๓ เข็ม ท่านจึงค่อนข้างแน่ใจว่าถ้าหากไม่บวชคงต้องตายโหงแน่ พอดีได้ข่าวว่าคุณน้าที่สวีหกล้มหัวแตกเลยกลับมาเยี่ยม คุณน้าเล่าให้ฟังว่ามีพระธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ที่วัดถ้ำขวัญเมือง ๑ รูป ท่านนั่งกรรมฐานเก่ง เป็นพระปฏิบัติทางด้านสมถวิปัสสนาสามารถทำฌานได้ จึงให้คุณน้าพาไปพบท่านได้เรียนถามท่านถึงเรื่องการทำสมาธิ คือ รูปฌาน ๔ ท่านก็อธิบายให้ฟังได้ และอุบาสกลูกศิษย์ของท่านก็ทำได้ ตัวท่านเองก็สามารถเห็นนิมิตต่างๆ ได้ เมื่อได้พบกับครูอาจารย์ที่ทำฌานเป็น ซึ่งหลวงพ่อท่านได้เสาะแสวงหามานาน ยังไม่เคยพบอาจารย์องค์ไหนทำฌาน ๔ เป็น จึงคิดอยากบวช เมื่อกลับไปบ้านคุณน้าก็นอนคิดอยู่ คุณน้าก็พูดว่า บวชเสียเถอะ ขืนเที่ยวอย่างนี้ตายไปคงไม่มีใครพบกระดูกแน่ และน้องสาว (ลูกคุณน้า) ยังได้พูดสบประมาทและท้าทายว่า หากท่านบวชได้ จะให้ผ้าไตร ๑ ชุด ถ้าไม่บวชจะไม่ให้เข้าบ้าน ท่านรู้สึกโกรธจึงรับคำท้านั้น ว่าถ้าซื้อมาเมื่อไรจะบวชทันที คุณน้าของท่านรู้ดีว่าท่านเป็นคนพูดจริงทำจริง จึงได้ไปซื้อผ้าไตรมาให้ และวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ หลวงพ่อก็ได้บวช ณ วัดโพธิเกษตร อำเภอสวี มีพระครูวิจิตรกรณีย์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เพชร ปญญาทีโป เป็นกรรมวาจารย์ บวชแล้วจึงมาจำพรรษาอยู่วัดถ้ำขวัญเมือง กับพระอาจารย์ของท่าน ชื่อพระอาจารย์ทองเชื้อ ฐิตสิริ ซึ่งท่านเป็นศิษย์กรรมฐานสายเดียวกันกับหลวงปู่ขาว พอตอนเย็นพระอาจารย์ทองเชื้อก็เขียนกรรมฐาน ๕ (เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) ให้ไปท่องบริกรรมภาวนา ท่านจึงขออนุญาตไปภาวนาที่กุฏิเพราะอายอุบาสกที่เขาทำฌานเป็นกันแล้ว เมื่อภาวนากรรมฐาน ๕ ไปได้ไม่กี่นาที ฌาน ๒ อุพเพงคาปีติก็ขึ้นทันทีสั่นไปทั้งตัว เสียงดังโครมครามไปหมด ได้แค่ฌาน ๒ เท่านั้นก็เห็นนิมิตตัวเองนั่งอยู่ข้างหน้า แต่เป็นคฤหัสถ์อยู่ เห็นครึ่งตัวสวมเสื้อยืดคอแบะสีน้ำตาล ไว้ผมยามหวีแสกข้าง สักประเดี๋ยวก็เห็นขันน้ำมาวางอยู่ข้างหน้า มีน้ำใสอยู่เต็มขัน ก็รู้ขึ้นมาทันทีว่า อ๋อ น้ำใสเต็มขันนั้นเป็นปริศนา เปรียบเทียบเหมือนจิตเรานั่นเอง เพราะจิตไม่มีตัวตน เมื่อออกจากกรรมฐานแล้วจึงไปเล่าให้ท่านอาจารย์ฟัง ท่านอาจารย์ก็ถามว่า หลวงน้า (หมายถึงหลวงพ่อ) เห็นอย่างนั้นหรือ ท่านก็ตอบว่า เห็น อาจารย์ทองเชื้อก็พยากรณ์ว่า ผู้ที่เห็นนิมิตอย่างนี้มีน้อย (คือผู้ที่เห็นตัวเองออกมานั่งอยู่ข้างหน้าอย่างนี้) เป็นผู้มีวาสนา สามารถปฏิบัติให้บรรลุถึงนิพพานในชาตินี้ได้ หลวงพ่อท่านก็ตอบอาจารย์ของท่านว่า กระผมไม่ได้คิดอะไรถึงขั้นนั้นครับ ท่านอาจารย์ เพราะผมไม่รู้ว่านิพพานไปทางไหน ในขณะที่ทำฌาน ๒ ได้แล้วนั้น รู้สึกเกิดความอิ่มเอิบใจเป็นที่สุด มีความมั่นใจและเชื่อมั่นถึงคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่าเป็นของแท้แน่นอน เมื่อบวชแล้วถ้าท่านอาจารย์ผู้สอนเรายังไม่รู้ก็จะแสวงหาอาจารย์ผู้รู้ต่อไปไม่คิดกลับบ้านแน่นอน เมื่อบวชแล้วต้องเรียนให้รู้ ถ้าไม่รู้ก็ขอสู้แค่ตาย และหลวงพ่อท่านก็ได้รู้ซึ้งถึงพระธรรมสมปรารถนา
มีเหตุการณ์ที่หลวงพ่อจะออกไปจากวัดถ้ำขวัญเมืองหลายครั้ง เพราะวัดนี้ใครมาอยู่ก็มักจะอยู่ไม่ได้แต่วันหนึ่งมีเทวดาหกองค์มาทำอัญชลี นิมนต์ให้ท่านอยู่ตลอดไป ซึ่งหลวงพ่อท่านก็รับนิมนต์ และสามารถอยู่มาได้จนถึงปัจจุบัน
ประวัติครอบครัว ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้อยู่กินกับโยมอุปัฏฐากคนแรกชื่อ ผาย สกุลเดิม ทองคำ มีบุตรด้วยกัน ๔ คน เป็นชาย ๒ หญิง ๒ คือ ๑.ด.ช. อนุ แซ่ลิ่น ถึงแก่กรรมเมื่อยังเด็กอายุ ๗ ขวบ ๒.ด.ญ. สุดา แซ่ลิ่น ถึงแก่กรรมเมื่อยังเด็กอายุ ๖ ขวบ ๓.นางอุษา เกษธำรง ปัจจุบันทำงานอยู่ฝ่ายบริหารงานทั่วไป สำนักงานการประถมศึกษา อ.พระ ประแดง จ.สมุทรปราการ ๔.นายวีระ เกษธำรง ปัจจุบันทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายช่างเครื่อง บริษัททำน้ำแข็ง อ.ละงู จ.สตูล
ต่อมาโยมอุปัฏฐากคนแรกได้ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ท่านได้แต่งงานใหม่ในปี พ.ศ.๒๔๘๔ กับโยมอุปัฏฐากคนปัจจุบันชื่อ สมศรี อนุเผ่า มีบุตรด้วยกัน ๒ คน เป็นชาย ๑ หญิง ๑ คือ ๑.นายชัชวาล เกษธำรง ปัจจุบันรับราชการในหน่วยงานอุตสาหกรรมจังหวัดชุมพร เป็นลูกจ้างประจำ นางฤดี แจ้งใจ ปัจจุบันรับราชการเป็นครูโรงเรียนบ้านท่าแซะ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร มีสามีเป็นศึกษานิเทศก์
ที่มา : หนังสือ "ชีวิตและผลงาน ของ พระครูภาวนาภิรมย์ (หลวงพ่อสรวง ปริสุทฺโธ)", พิมพ์เป็นอนุสรณ์เนื่องในงาน ชาตะกาลวันครบรอบ ๑๐๐ ปี ของพระครูภาวณาภิรมณ์ วัดถ้ำขวัญเมือง |